info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.191.103.117

IRPC ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ผนึกโรงพยาบาล รุกเฮลท์&เวลเนส

Hospital News / ข่าวหมวดโรงพยาบาล

“ไออาร์พีซี” ปรับพอร์ตฯ รับโรงกลั่นแข่งเดือด-สินค้าปิโตรเคมีจีนทะลัก ลดสัดส่วนโรงกลั่นจาก 75% เหลือ 55% ชูสินค้ามูลค่าสูง แตกไลน์ธุรกิจ ชงบอร์ด Q1/67 เคาะแผนลงทุน ผนึก รพ.บางปะกอก-ปิยะเวท ผุดอาณาจักรโรงพยาบาล-ที่พักเพื่อสุขภาพ จ.ระยอง กวาดลูกค้าอีอีซี พร้อมเดินหน้าศูนย์นวัตกรรม สร้างโมเดลปั้นบริษัทสตาร์ตอัพต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์สู่ตลาด

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ไออาร์พีซี กำลังทรานส์ฟอร์มธุรกิจ จากปัจจุบันโรงกลั่นไออาร์พีซีมีกำลังการผลิตประมาณ 215,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 215 KBD เมื่อกลั่นออกมามีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำมัน 75% และอีก 25% เป็นบายโปรดักต์ปิโตรเคมี ที่จะถูกนำไปผลิตเม็ดพลาสติก โดยจากนี้ไปบริษัทจะทยอยลดสัดส่วนธุรกิจน้ำมันลงเหลือ 55% ในปี 2028

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 45% และจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ POLIMAXX เม็ดพลาสติก พีพี เมลต์โบลน (PP Melt Blown) สำหรับผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหน้ากากอนามัย ชุดพีพีอี เม็ดพลาสติก HDPE 100-RC สำหรับผลิตท่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทนแรงกระแทก มีอายุการใช้งานนานกว่า 100 ปี หรือธุรกิจสารเคลือบและสี เป็นต้น

“วันนี้การขยายกำลังการกลั่น อีก 1.5-2 ปี หลักจะไปอยู่ที่ไทยออยล์ที่กำลังจะเกิดขึ้น โครงการ CFP จะเสร็จทำให้มีกำลังการผลิตมากถึง 2 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตของโรงกลั่นในประเทศไทยมากกว่าการใช้มาก และยังมีเหลือส่งออก

แต่การที่ต้องเอาน้ำมันดิบมากลั่น ทุกคนก็ต้องกลั่นให้เต็มกำลังการผลิตของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่นรายใหม่เข้ามาในตลาดโลกอีกหลายโรงที่กำลังจะดำเนินการ ทั้งอเมริกา รัสเซีย อิหร่าน และเมื่อถึงวันนั้นในอนาคตอาจจะลำบากจึงต้องทรานส์ฟอร์ม”

ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก ที่เดิมผลิตส่งออกไปจีนเป็นตลาดใหญ่ แต่ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตเพื่อใช้เองในประเทศ และมีกำลังการผลิตเหลือเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจในจีนมีปัญหา ดีมานด์ในประเทศลดลง จีนจึงต้องระบายของออกมา

และเนื่องจากสเกลการผลิตของจีนที่ใหญ่ ไทยผลิตหลักแสนตัน จีนผลิตหลักล้านตัน ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยจีนถูกกว่า ประกอบกับไทยมีการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับจีน (เอฟทีเอ) ส่งผลให้สินค้าจากจีนเข้ามาในตลาดจำนวนมาก

แตกไลน์บุก เฮลท์ & เวลเนส

นายกฤษณ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางกลยุทธ์ด้วยการขยายพอร์ตลงทุนใหม่ ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับโรงพยาบาลบางปะกอก และโรงพยาบาลปิยะเวท ร่วมกันศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลและที่พักเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) ในพื้นที่ของบริษัท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จ.ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง

โดยเตรียมจะนำเสนอผลศึกษาความเป็นไปได้นี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัท หลังจากผลศึกษาแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2567 เพื่อพิจารณารูปแบบการลงทุนต่อไป

“ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา Feasibility Study ว่าจะไปถึงสถานที่พักพื้นหลังการเจ็บป่วย และรองรับตลาดสังคมสูงวัย เรามีที่ดินเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ ส่วนรูปแบบการลงทุนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ด ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนร่วม หรือ Joint Venture ซึ่งเราต้องพึ่งคนที่เชี่ยวชาญและทำอยู่แล้วอย่างโรงพยาบาลปิยะเวท โดยองค์ประกอบในโครงการนี้จะมีทั้งโรงพยาบาล สถานพักฟื้นหลังการเจ็บป่วย ฟื้นฟูสมรรถนะ”

โมเดลใหม่ปั้น “สตาร์ตอัพ”

นายกฤษณ์กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทเน้นให้ความสำคัญกับพัฒนานวัตกรรม โดยตั้งศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี (IRPC Innovation Center) ขึ้นที่ จ.ระยอง ซึ่งได้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมได้เป็นผลสำเร็จแล้ว 10 รายการ และมีการนำนวัตกรรมกลุ่มนี้ออกสู่ตลาดแล้ว 3-4 รายการ โดยโจทย์ในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวจะเน้นการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว หมายถึงอะไรก็ได้ที่ผ่อนแรงเกี่ยวกับปัจจัย 4 ทั้งหมด บ้าน อาหารการกิน ยา เครื่องนุ่งห่ม

โดยนวัตกรรมล่าสุดคือ ธาตุอาหารสำหรับพืชที่ใช้เทคโนโลยีนาโนมาช่วยให้พืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย มาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้า REINFOXX หรือปุ๋ยหมีขาว มีสตาร์ตอัพ บริษัท รักษ์ป่าสัก จำกัด เป็นผู้ดูแลจัดหน่าย และบริษัทเพิ่งลงนามเอ็มโอยูร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนินโครงการภายใต้กองทุนอินโนเวชั่นวัน เพื่อร่วมกันยกระดับการพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่สตาร์ตอัพ

“เราวางแนวทางไว้ว่านวัตกรรมที่พัฒนาได้ จะมีการ Spin Off ให้คนนอกเข้ามาดูเทคโนโลยี ถ้าสินค้าดีเอาไปเลย แล้วมาลงนามสัญญาต่างตอบแทนกัน เราพร้อมจะขายนวัตกรรมหรือทรัพย์สินทางปัญญาให้กับคนนอก หรือแม้แต่พนักงานของเราที่พร้อมจะออกไปเป็น Entrepreneur

แต่ออกไปอย่างน้อยต้องมีทุนประเดิมให้ และเราทำให้สินค้าคอมเมอร์เชียลได้แล้ว คือมีตลาดพอสมควร การสปินออกไปก็ตั้งเป้าให้เขาเป็นสตาร์ตอัพออกสู่ตลาด บริษัทสตาร์ตอัพจะมีอิสระในการทำงาน โดยไออาร์พีซีจะไม่ผูกมัด จะไม่ไปถือหุ้น ไม่ไปทำอะไรเขาเลย เขาจะมีสัญญา 5 ปี 10 ปี 15 ปี แล้วแต่ระยะคืนทุน”

ส่วนธุรกิจโรงกลั่นเดิม ยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันดีเซล ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project หรือ UCF) มีความพร้อมผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 หรือน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำ สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ภายใน 1 มกราคม 2024 เพื่อช่วยสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับบริษัท และขยายระบบโลจิสติกส์ขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยขยายคลังน้ำมันแห่งใหม่ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยระบบขนส่งน้ำมันทางท่อความยาว 99 กิโลเมตร ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ จำกัด (BFPL) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานภาคขนส่งในภาคกลางและภาคเหนือ ช่วยให้การดำเนินงานและการกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขนส่ง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจท่าเรือและอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความพร้อมให้บริการท่าเทียบเรือน้ำลึกเพื่อขนถ่ายสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รองรับการขนส่งของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือคอนเทนเนอร์และสินค้าทั่วไป ท่าเรือปิโตรเคมีและปิโตรเลียมเหลว และยังได้มีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

รวมถึงโครงการตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและเอกชน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ โครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จ.ระยอง โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHAIER) อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และที่ดินพื้นที่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา

20/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 20 ธันวาคม 2566 )

Youtube Channel