รพ.เอกชัยการแพทย์-รพ.เวชธานี เดินหน้าขยายธุรกิจใหม่เปิด โรงพยาบาลจิตเวช เพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
วันที่ 19 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยยังคงเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะด้วยจำนวนและสัดส่วนของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชต่อประชากรในประเทศยังคงมีค่อนข้างจำกัด
โดยจากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 จากสถิติกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตระบุว่า จำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในประเทศไทยมีจำกัดอย่างมาก โดยมีจำนวนและอัตราส่วนต่อประชากรแสนคนดังนี้
จิตแพทย์รวม 845 คน ซึ่งมีอัตราส่วน 1.28 คนต่อประชากรแสนคน
นักจิตวิทยา (คลินิก) รวม 1,037 คน ซึ่งมีอัตราส่วน 1.57 คนต่อประชากรแสนคน
พยาบาลจิตเวชรวม 4,064 คน ซึ่งมีอัตราส่วน 6.14 คนต่อประชากรแสนคน
ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า จากจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิต
ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยจิตเวชในไทยนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยจิตเวช เข้ารับการรักษามากถึง 2.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะ 6 ปี
ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า ในทุกปีจะมีการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มีภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตราวปีละ 21,000 ครั้ง
โดยสถิติย้อนหลัง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2566 พบว่า ในปี 2563 มีการให้บริการ 20,936 ครั้ง ปี 2564 ให้บริการ 22,966 ครั้งปี 2565 ให้บริการ 21,848 ครั้ง และล่าสุดในปี 2566 ให้บริการ 22,855 ครั้ง
ทั้งนี้ ถ้าหากดูรายชื่อโรงพยาบาลหรือสถาบันที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานบำบัดรักษาตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ในปี 2564 มีจำนวนเพียง 116 แห่ง แบ่งออกเป็นดังนี้
โรงพยาบาลหรือสถาบันในสังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รวม 20 แห่ง
โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวม 85 แห่ง
โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวม 1 แห่ง
โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวม 6 แห่ง
โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร รวม 1 แห่ง
โรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก รวม 1 แห่ง
โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม รวม 1 แห่ง
โรงพยาบาลในองค์การมหาชน รวม 1 แห่ง
ซึ่งจากจำนวนโรงพยาบาลหรือสถาบันที่มีอยู่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วยจิตเวชในปัจจุบัน และล่าสุดในปี 2566 ก็ได้มีความเคลื่อนไหวจากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำที่ได้หันมาลงทุนเปิดโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประชาชาติธุรกิจ จึงได้รวบรวมโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ที่ได้ประกาศลงทุนเปิดโรงพยาบาลจิตเวชในช่วงปี 2566 นี้ว่ามีโรงพยาบาลไหนบ้าง และแต่ละโรงพยาบาลมีเป้าหมายในการทำธุรกิจนี้อย่างไร
EKH ทุ่ม 400 ล้าน เปิด รพ.จิตเวช
โรงพยาบาลเอกชัยการแพทย์ หรือ EKH ร่วมทุนกับกลุ่มนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ สร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับฟื้นฟูปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ขนาด 50 เตียง บนพื้นที่ 4 ไร่ ย่านบางแค ติดถนนเพชรเกษม แหล่งทราฟฟิกสูง ผ่านสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี กับกลุ่มนารายณ์ฯ
ภายใต้ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท โดย EKH ถือหุ้น 60% กลุ่มนารายณ์ถือหุ้น 25% และกลุ่มบุคลากรการแพทย์ถือหุ้นอีก 15% โดยเบื้องต้นวางกลุ่มรักษา มีทั้งโรคทางจิตทั่วไป เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น และกลุ่มโรคทางจิตแบบยาก อาทิ โรคอารมณ์สองขั้ว
ตลอดจนโรคทางจิตประเภทเสพติด อย่างกลุ่มติดยาเสพติด ติดสุรา ติดบุหรี่ รวมไปถึงการเสพติดการพนัน และเกม ซึ่งเพิ่งถูกจัดในกลุ่มเสพติดมาไม่นานมานี้ โดยตั้งเป้ายกระดับ รพ.เฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชมาตรฐานระดับโลก เจาะทั้งกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ
อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลเอกชัยการแพทย์ ได้วางแผนจดทะเบียนบริษัทภายในไตรมาส 1 ปี 2567 ต่อมาในไตรมาส 2 ปี 2567 จึงเริ่มก่อสร้าง รพ. และคาดว่าจะเปิดบริการเต็มศักยภาพได้ในไตรมาส 4 ปี 2568
โดยวางเป้าหมายคืนทุน และทำกำไรหลังจากเปิดบริการครบ 3 ปี คาดการณ์ว่าจำนวน 50 เตียง และห้องตรวจ 30 ห้อง จะทำรายได้ต่อปีได้ 400 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 10-15%
รพ.เวชธานี รุกธุรกิจใหม่สู่ รพ.จิตเวช BMHH
โรงพยาบาลเวชธานี ขยายธุรกิจสู่โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต เปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลสุขภาพจิตเอกชน ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายโรงพยาบาลเวชธานี โดยจะตั้งอยู่ถนนติวานนท์ 39
ซึ่งจะชูกลยุทธ์สร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นจากโรงพยาบาลทั่วไป ทั้งเรื่องบริการที่มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยในกว่า 30 เตียง และสำหรับบริการผู้ป่วยนอก จะมีทั้งคลินิกทั่วไป และคลินิกเฉพาะทาง เป็นต้น
รวมถึงได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนเครื่องมือทางการแพทย์และยาใหม่ ๆ มาช่วยเสริมกับความชำนาญของทีมแพทย์ที่เป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย
โดยตั้งเป้าหมายให้ BMHH เป็นที่รู้จักในประเทศไทยภายใน 2 ปี และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะไปเน้นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากทั้ง 2 โรงพยาบาลเอกชนที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ยังมีโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่งที่ได้รุกเข้ามาทำธุรกิจโรงพยาบาลจิตเวชกันบ้างแล้ว ซึ่งในอนาคตก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าธุรกิจโรงพยาบาลจิตเวชจะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาร่วมแข่งขันในตลาดนี้อีกหรือไม่
19/12/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 19 ธันวาคม 2566 )