info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.222.131.239

เช็กลิสต์ท็อป 10 ยักษ์อสังหาฯ AP ยืนแชมป์ลงทุนใหม่ 4 ปีติดต่อกัน

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

เปิดประเด็นต้อนรับไตรมาส 3/67 ด้วยข้อมูลผลสำรวจ 10 อันดับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ อัพเดต ณ ครึ่งปีแรก 2567

โดย “ดร.โสภณ พรโชคชัย” ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA ระบุว่า 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่ารวมกันคิดเป็นสัดส่วน 62% จำนวนหน่วยรวมกัน 53% ของตลาดรวม (ดูกราฟิกประกอบ)

เอพีแชมป์ลงทุนใหม่ 4 ปีซ้อน

จากผลการสำรวจล่าสุด ณ ไตรมาส 2/67 พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่า มีหน่วยขายเปิดใหม่ทั้งหมด 33,445 หน่วย มูลค่ารวม 211,279 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 10 บริษัทแรกที่เปิดตัวโครงการใหม่สูงสุด มีจำนวน 17,736 หน่วย คิดเป็น 53% ของหน่วยทั้งหมด และมีมูลค่าโครงการรวมกัน 131,401 ล้านบาท สัดส่วน 62%

สำหรับสถิติครึ่งปีแรก พบว่า อันดับ 1 เป็นของ “บมจ.เอพี (ไทยแลนด์)” เปิดตัวใหม่ 26 โครงการ จำนวน 5,488 หน่วย มูลค่าทั้งหมด 33,710 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 6.143 ล้านบาท

หากเทียบกับครึ่งปีแรก 2566 จะพบว่าเอพีเปิดใหม่จำนวน 18 โครงการ 3,036 หน่วย มูลค่า 27,345 ล้านบาท มีสัดส่วน 12.8% ครึ่งปีแรกปีนี้มีอัตราเติบโตของการลงทุนใหม่ แสดงถึงเอพีมีการเติบโตสวนกระแสตลาดอสังหาฯ อย่างชัดเจน

รวมทั้ง เอพีเป็นเจ้าของสถิติครองแชมป์ลงทุนใหม่สูงสุด 4 ปีติดต่อกัน

ศุภาลัยเบียด “จำนวนหน่วย”

อันดับ 2 “บมจ.ศุภาลัย” เปิดตัว 10 โครงการใหม่ จำนวน 1,874 หน่วย มูลค่ารวม 11,713 ล้านบาท สัดส่วน 5.6% มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 6.250 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากนับรวมในจังหวัดภูมิภาคด้วย ศุภาลัยจะมีสัดส่วนการพัฒนาที่สูงกว่านี้มาก เพราะเป็น “แชมป์” พัฒนาที่ดินในจังหวัดภูมิภาค 4 ปีซ้อนมาแล้ว

อันดับ 3 “บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” เปิดตัว 5 โครงการใหม่ จำนวน 1,850 หน่วย มูลค่ารวม 7,609 ล้านบาท สัดส่วน 5.5% มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 4.113 ล้านบาท

เอสซีฯ-โนเบิลฯ มูลค่าสูงสุด

ในด้านมูลค่าโครงการใหม่ พบว่า อันดับ 2 “บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น” เปิดตัว 9 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 19,418 ล้านบาท โดยเปิดตัวจำนวน 969 หน่วย สัดส่วน 9.2% มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 20.040 ล้านบาท

จะเห็นว่า เอสซี แอสเสทฯ แม้พัฒนาจำนวนหน่วยน้อยกว่ามาก แต่มูลค่าก็ไม่แตกต่างจากบริษัทอันดับหนึ่งมากนัก

อันดับ 3 “บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์” เปิดตัว 4 โครงการใหม่ มูลค่าโครงการ 14,311 ล้านบาท จำนวน 1,223 หน่วย สัดส่วน 6.8% มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 11.701 ล้านบาท

เมเจอร์ฯ-เอสซีฯ-FPT แพงสุด

“ดร.โสภณ” เจาะรายละเอียดกลุ่มบริษัทที่มีการพัฒนา “ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยสูงสุด” ได้แก่ บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์-บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ FPT และ บมจ.เอสซี แอสเสทฯ ดังนี้

อันดับ 1 บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดตัว 3 โครงการใหม่ มูลค่าโครงการ 10,562 ล้านบาท จำนวน 441 หน่วย สัดส่วน 5.0% ของทั้งตลาด

อย่างไรก็ตาม พบว่า ค่ายเมเจอร์ฯ เป็นเจ้าของสถิติในแต่ละหน่วยขายที่เปิดตัวใหม่ มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 23.949 ล้านบาท

อันดับ 2 บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย หรือ FPT เปิดตัว 4 โครงการใหม่ มูลค่าโครงการ 6,629 ล้านบาท จำนวน 327 หน่วย สัดส่วน 3.1% ของทั้งตลาด

โดยราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยของ FPT ครองสถิติอันดับ 2 อยู่ที่เฉลี่ยหน่วยละ 20.272 ล้านบาท

อันดับ 3 บมจ.เอสซี แอสเสทฯ เปิดตัว 9 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 19,418 ล้านบาท จำนวน 969 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 9.2% ของทั้งตลาด โดยราคาเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ 20.040 ล้านบาท

เสนาฯ-CMC-ASW ยึดตลาดแมส

สำหรับตลาดแมส หรือตลาดกลาง-ล่าง ซึ่ง “ดร.โสภณ” เรียกว่ากลุ่มบริษัทขวัญใจคนจน เพราะเป็นบริษัทที่สร้างที่อยู่อาศัยในราคาปานกลางค่อนข้างถูก ได้แก่ บมจ.เสนาดีเวลลอปเมนท์-บมจ.เจ้าพระยามหานคร-บมจ.แอสเซทไวส์

โดยแต่ละบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งว่ากันว่าเป็นตลาดที่ได้รับการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากที่สุด เพราะผู้ซื้อมีกำลังซื้อจำกัด มีปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูง โดยเรียง 3 อันดับแรก ดังนี้

อันดับ 1 “บมจ.เสนาดีเวลลอปเมนท์” เปิดตัว 2 โครงการใหม่ จำนวน 1,552 หน่วย รวมมูลค่า 2,713 ล้านบาท สัดส่วน 4.6% ของทั้งตลาด มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 1.748 ล้านบาท

อันดับ 2 “บมจ.เจ้าพระยามหานคร หรือ CMC” เปิดตัว 3 โครงการใหม่ จำนวน 1,296 หน่วย รวมมูลค่า 3,400 ล้านบาท สัดส่วน 3.9% ของทั้งตลาด มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 2.623 ล้านบาท

อันดับ 3 “บมจ.แอสเซทไวส์ หรือ ASW” เปิดตัว 3 โครงการใหม่ จำนวน 1,006 หน่วย รวมมูลค่า 2,790 ล้านบาท สัดส่วน 3.0% ของทั้งตลาด มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 2.774 ล้านบาท

“บริษัทเหล่านี้เน้นสร้างบ้านตลาดแมส ป้อนให้ประชาชนทั่วไปเป็นหลัก ถือเป็นบริษัทที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยไทย”

ที่ยืนแชมป์เก่า พฤกษาฯ-แลนด์ฯ

“ดร.โสภณ” ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในอดีตที่ผ่านมามีแชมป์เก่าที่ยังน่าจับตามอง 2 บริษัท ได้แก่ “พฤกษา เรียลเอสเตท” กับ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” รายละเอียดดังนี้

กรณี “บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท” เปิดตัว 5 โครงการใหม่ จำนวน 1,166 หน่วย รวมมูลค่า 5,957 ล้านบาท มีสัดส่วน 3.5% ของทั้งตลาด มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 5.109 ล้านบาท

โดยพฤกษาฯ เคยครองสถิติเป็นแชมป์ตลอด 10 ปีก่อนหน้านี้ ถือเป็นบริษัทอสังหาฯ ที่มีโมเดลธุรกิจน่าสนใจมาก กล่าวคือ นอกจากจะพัฒนาโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมแล้ว พฤกษาฯ มีการลงทุนอสังหาฯ ประเภทอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน โรงพยาบาล และการลงทุนอื่น ๆ

โมเดลธุรกิจของพฤกษาฯ ทำให้มีรายได้ประจำ (รายได้ค่าเช่า หรือรายได้รีเคอริ่ง) สูงกว่ารายได้จากการขายที่อยู่อาศัย เหตุผลเพราะพฤกษาฯ ต้องการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของบริษัทในระยะยาว

อีกรายคือ “บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ในช่วงครึ่งแรก 2567 เปิดตัว 2 โครงการใหม่ มูลค่าโครงการ 9,947 ล้านบาท จำนวน 602 หน่วย สัดส่วน 4.7% ของทั้งตลาด มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 16.523 ล้านบาท

โดย แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นพี่ใหญ่ของวงการอสังหาฯ ไทย เคยเป็นเจ้าของสถิติแชมป์ในยุค 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันกลุ่มแลนด์ฯ ยังรักษาความคงเส้นคงวาในแง่การพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาสูง และราคาปานกลางค่อนข้างสูง รวมทั้งแตกไลน์ลงทุนโครงการอสังหาฯ เพื่อเช่าที่สร้างรายได้มั่นคงในระยะยาว

จับตาซุปตาร์ “ลลิลฯ-ออริจิ้นฯ”

ในด้านบริษัทที่ต้องเอาปากกามาวง “ดร.โสภณ” ระบุว่า มีบริษัทใหญ่ที่น่าจับตามองอย่างน้อย 2 บริษัท ดังนี้

1.“บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้” เป็นบริษัทใหญ่ที่สุดอันดับ 9 ในแง่จำนวนหน่วย ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 เปิดตัว 5 โครงการใหม่ จำนวน 1,032 หน่วย รวมมูลค่า 3,516 ล้านบาท สัดส่วน 3.1% ของทั้งตลาด มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 3.407 ล้านบาท

โดย บมจ.ลลิลฯ เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงผู้บริหารเจเนอเรชั่นที่ 2 “ชูรัชฏ์ ชาครกุล” ในอนาคตน่าจะเติบโตได้อีกมาก

2.“บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” ซึ่งเป็นอันดับ 8 ของตารางในแง่มูลค่าการพัฒนาโครงการ โดยเปิดตัว 5 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 7,609 ล้านบาท จำนวน 1,850 หน่วย มีสัดส่วน 3.6% ของทั้งตลาด มีราคาขายเฉลี่ยหน่วยละ 4.113 ล้านบาท

โดย “บมจ.ออริจิ้นฯ” มีการพัฒนาที่หลากหลายประเภทอสังหาฯ มีการลงทุนเชิงรุกทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองภูมิภาค จุดเด่นมาจากการมีผู้บริหารที่มีศักยภาพสูงเป็นจำนวนมาก จึงน่าจะมีโอกาสเติบโตอีกมากเช่นกัน

1/8/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 1 สิงหาคม 2567 )

Youtube Channel