เทกระจาดมหกรรมบ้าน-คอนโด สุญญากาศไร้มาตรการรัฐ ลูกค้าชะลอซื้อ อสังหาฯ ควักกระเป๋าแจกโปรฟรีโอน-จดจำนอง เฉือนกำไร เร่งยอดขาย แปลงสต๊อกเป็นเงินสด ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยปี 2567 ยอดโอนทั่วประเทศติดลบทุกระดับราคา เอเซีย พลัส ชี้ครึ่งปีหลัง 2568 สัญญาณอันตราย ซัพพลายสะสม+แผนเปิดตัวใหม่แค่ 14 บริษัทรายใหญ่พุ่ง 1.2 ล้านล้านบาท ด้านสมาคมอสังหาฯ ขอมาตรการยาเร็ว-ยาแรง ต่ออายุลดค่าโอน-จำนองราคาไม่เกิน 7 ล้าน ?ปลดล็อก LTV 2 ปี ฟื้นกำลังซื้อคนไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 อยู่ในช่วงขาลงอย่างชัดเจน ถูกซ้ำเติมด้วยภาวะสุญญากาศจากการที่มาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยรัฐบาลยังไม่ได้มีการต่ออายุมาตรการให้ ทำให้ช่วง 2 เดือนเศษที่ผ่านมา ต้นทุนค่าโอนทางเจ้าของโครงการต้องแบกรับไว้เอง เพื่อกระตุ้นลูกค้าซื้อและโอนโดยเร็วที่สุด
มหกรรมความหวังบ้าน-คอนโด
นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคจากยอดปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง 50-70% เป็นผลจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยบังคับใช้ LTV-Loan to Value (มาตรการบังคับเงินดาวน์แพงสำหรับการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป) ส่งผลกระทบ 2 ฝั่ง คือ ฝั่งผู้ซื้อมียอดกู้ไม่ผ่านสูงขึ้น
ส่วนฝั่งผู้ขายเผชิญศึกหลายด้าน ทั้งภาระการออกหุ้นกู้มากถึง 2.13 แสนล้านบาท โดยปีนี้ครบกำหนดชำระ 80,000 ล้านบาท หากไม่สามารถผลักดันยอดขายเป็นยอดโอนได้ จะกระทบความสามารถในการคืนหนี้หุ้นกู้ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นตลาดเงินและตลาดทุน อีกเรื่องคือภาวะแข่งขันสูง จำเป็นต้องเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ แต่ทำยอดขายได้ลดลง บรรทัดสุดท้ายกลายเป็นสต๊อกสะสมติดอยู่ในมือผู้ประกอบการ คาดว่าปีนี้ต้องแบกสต๊อกบ้านและคอนโดมิเนียมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท
นำมาสู่ความคาดหวังปั๊มยอดขายครั้งใหญ่ ผ่านการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 47 แล้ว ในภาพรวมมีผู้ประกอบการร่วมออกบูทนำเสนอ 1,000 โครงการ ไฮไลต์อยู่ที่การแข่งขันโปรโมชั่น ทั้งแจกและแถม โดยตั้งเป้ารายได้ในงานไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท และมีการลุ้นว่าถ้ามีมาตรการรัฐออกมาช่วยก่อนหมดไตรมาส 1/68 ยอดขายในงานน่าจะไปได้ถึง 10,000 ล้านบาท
ลุ้นยอดขาย 4,000-10,000 ล้าน
ดร.ดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 เปิดเผยว่า 3 สมาคมผู้จัดงาน ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 20-23 มีนาคม 2568 นี้ โดยมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 200 บริษัท นำโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมไม่ต่ำกว่า 1,000 โครงการร่วมออกบูท ครอบคลุมทุกทำเลทั่วประเทศไทย และครอบคลุมทุกระดับราคา ตั้งแต่ต่ำล้าน-100 ล้านบาทขึ้นไป
ธีมการจัดงาน คือ Sustainable Living For Better Life มุ่งสร้างความยั่งยืนทั้งเพื่อคุณและเพื่อโลก ผู้ร่วมออกบูทมีทั้งบริษัทอสังหาฯ และสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย LH Bank เป็นต้น ผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยสามารถเตรียมเอกสารมายื่นขอสินเชื่อได้ภายในงาน
นายหัสกร บุญยัง ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 กล่าวเสริมว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen X ให้ความสำคัญกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การจัดงานครั้งนี้จึงนำเสนอแนวคิดที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) นำเสนอเทรนด์บ้านรักษ์โลก บ้านประหยัดพลังงาน วัสดุก่อสร้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
ไฮไลต์สำหรับผู้ที่จองซื้อในงาน รับสิทธิลุ้นรับโปรโมชั่นพิเศษ ส่วนลด และของรางวัล รวมมูลค่า 800,000 บาท ขณะเดียวกันผู้จองซื้อและทำสัญญามีสิทธิได้รับโปรโมชั่นส่วนกลางเพิ่มเติม มูลค่า 8 แสนบาท ในจำนวนนี้รางวัลใหญ่เป็นส่วนลดเงินสด 3 แสนบาท ตั้งความหวังทำยอดขายในงานใกล้เคียงกับการจัดงานครั้งที่ 46
การจัดงานครั้งที่ 46 มีปัจจัยบวกจากมาตรการลดค่าโอน ทำให้มียอดขายจากในงานเพิ่ม 100% จาก 5,000 ล้าน เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท การจัดงานครั้งที่ 47 จึงคาดหวังว่าจะไม่น้อยกว่าเดิม อยู่ที่ 4,000-10,000 ล้านบาท โดยการซื้ออสังหาฯตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าที่สุด ทั้งของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ นายหัสกรกล่าว
อสังหาฯขอ ยาเร็ว-ยาแรง
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 นับเป็นปรอทวัดไข้และจุดฟื้นตัวของตลาดลูกค้าในประเทศของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย ภาคเอกชนได้ช่วยตัวเองแล้วด้วยการลงทุนจัดงานรวม 10 ล้านบาท สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องการมาตรการที่เป็นยาเร็วและยาแรง 2 มาตรการ
แบ่งเป็นมาตรการยาเร็ว ต่ออายุลดค่าโอนและจดจำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% หรือล้านละ 30,000 บาท ลดเหลือล้านละ 300 บาท ในราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งหมดอายุลงเมื่อ 31 ธันวาคม 2567 ข้อเสนอคือขอให้ต่ออายุมาตรการนี้ออกไปอีก 1 ปี หรือให้หมดอายุภายใน 31 ธันวาคม 2568 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มกำลังซื้อตลาดกลาง-ล่าง ซึ่งมีขนาดตลาดใหญ่ที่สุด รวมกัน 50-60%
ส่วนมาตรการยาแรง ขอให้แบงก์ชาติพิจารณาผ่อนปรน LTV โดยปลดล็อกให้มี LTV 100% ในทุกระดับราคา เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี รอจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้จริง ค่อยกลับนำมาบังคับใช้ใหม่ก็ได้
มหกรรมบ้านและคอนโด จัดขึ้นในวันที่ 20-23 มีนาคมนี้ จากการที่3 สมาคมเดินสายประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย มีสัญญาณออกมาว่าอาจได้รับข่าวดีทั้งมาตรการยาเร็วและยาแรง ในวันที่ 20 มีนาคมนี้
ขยายซอฟต์โลนอุ้มคนรายได้น้อย
นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ยังมีอีกมาตรการที่ขอให้เดินหน้าต่อเนื่องในด้านวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ที่ผ่านมาทางธนาคารอาคารสงเคราะห์จัดวงเงินไม่ต่ำกว่า 1.25 แสนล้านบาท และเต็มวงเงินอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับขนาดตลาดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 7 แสนล้านบาท ถือว่ายังไม่พอเพียงกับความต้องการขอสินเชื่อในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง
และนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ช่วยเหลือตัวเองด้วยการจัดบิ๊กอีเวนต์ระบายสต๊อกบ้านและคอนโดฯ ดังนั้น จึงอยากขอรับการสนับสนุนมาตรการจากภาครัฐ ซึ่งการบริหารจัดการด้านการเงินมีเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการออกหุ้นกู้เกินครึ่งอยู่ที่ 52% ลดบทบาทการขอสินเชื่อธนาคาร แต่ถ้าไม่สามารถสร้างยอดรับรู้รายได้หรือยอดโอน ก็อาจมีผลกระทบต่อการชำระคืนหุ้นกู้ในภาพรวม
สรุปว่าการปลดล็อก LTV จะช่วยให้ผู้ซื้อเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมทั้งลดค่าโอน-จดจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท จะเป็นสัญญาณบวกให้กับผู้ซื้อและผู้ประกอบการไปพร้อม ๆ กัน
บ้านใหม่ร่วง-มือสองซิวยอดโอน 62%
นางสาวสิทธิเพ็ญ สิทธัตถพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) กล่าวว่า สถิติการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศปี 2567 ทุกสินค้าทั้งบ้านแนวราบและคอนโดฯ ทุกเซ็กเมนต์ราคาตั้งแต่ล่าง-กลาง-บน มีการโอนติดลบทุกระดับราคา (ดูกราฟิกประกอบ) โดยปี 2565-2566 เคยมียอดโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศเกิน 1 ล้านล้านบาท ล่าสุดปี 2567 ลดเหลือ 9.8 แสนล้านบาท แนวโน้มปี 2569 คาดว่ายอดโอนยังทรงตัวที่ 9.9 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ตัวแปรอยู่ที่มาตรการรัฐกระตุ้นอสังหาฯ กรณีไม่มีมาตรการต่ออายุลดค่าโอน-จดจำนอง และปลดล็อก LTV ออกมาช่วยเหลือ เทรนด์การโอนทั่วประเทศปีหน้าจะทรงตัวหรือโตต่ำที่ 1.4% ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐบาลต่ออายุการลดค่าโอน-จำนอง และปลดล็อก LTV ทุกราคา เพื่อกระตุ้นให้คนที่มีกำลังซื้อออกมาใช้เงินมากขึ้น แนวโน้มจะทำให้ปีนี้การโอนกลับมาบวกได้แรงถึง 10%
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณอันตรายซ่อนอยู่ โดยเจาะไส้ในยอดโอน 9.8 แสนล้านบาท พบว่าเป็นยอดโอนบ้าน-คอนโดฯใหม่เพียง 38% ที่เหลือส่วนใหญ่ถึง 62% เป็นการโอนบ้านมือสอง โดยเฉพาะการโอนในกลุ่มราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท สาเหตุมีทั้งการกู้ไม่ผ่าน และโครงการใหม่แพ้ต้นทุนที่ดินและต้นทุนพัฒนาโครงการ จึงแทบจะไม่มีสินค้าราคานี้ออกมาสู่ตลาดมากนัก ทางเลือกจึงไปออกที่บ้านมือสองแทน
เทรนด์การโอนบ้านมือสองสูงถึง 62% เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ของบริษัทอสังหาฯ เพราะมีศึกหลายด้าน ทั้งโอเวอร์ซัพพลาย ขายช้าลง ยังมาเจอคู่แข่งที่มาแย่งกำลังซื้อจากบ้านมือสองเพิ่มเติม
ระเบิดเวลาหนี้หุ้นกู้ 80,000 ล้าน
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า เทรนด์ขาลงของตลาดอสังหาฯ ต้องบอกว่าเป็นขาลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (2566-2567-2568) จุดโฟกัสสำรวจข้อมูลบิ๊กแบรนด์ 14 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีตัวเลขสำคัญดรอปทุกตัวทั้งยอดโอน กำไรเบื้องต้น (กรอสมาร์จิ้น) และกำไรสุทธิ (นอร์ทมาร์จิ้น)
รายชื่อ 14 บริษัทมหาชน ประกอบด้วย 1.เอพี ไทยแลนด์ 2.แอสเซทไวส์ 3.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ 4.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ 5.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ 6.ควอลิตี้เฮ้าส์ 7.พฤกษา เรียลเอสเตท 8.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน 9.ศุภาลัย 10.แสนสิริ 11.LPN 12.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ 13.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ และ 14.โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์
ตัวชี้วัดตัวแรก โครงสร้างการเงินมีระเบิดเวลาจากหนี้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 4.12 แสนล้านบาท โดยสัดส่วน 52% เป็นหนี้หุ้นกู้ วงเงินรวม 213,670 ล้านบาท หนี้สินเชื่อธนาคาร 48% วงเงิน 198,343 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ระยะสั้น 47% วงเงิน 194,511 ล้านบาท หนี้ระยะยาว 53% วงเงินรวม 217,502 ล้านบาท
ไฮไลต์ด้านการเงินในปี 2568 มีหนี้หุ้นกู้ต้องชำระคืน 80,000 ล้านบาท ในภาวะที่ยอดขายตลาดรวมตกต่ำ ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูง LTV กดดันผู้กู้ ทำให้ต้องลุ้นว่าการคืนหนี้หุ้นกู้จะทำได้ราบรื่นหรือไม่
บิ๊กเนมเบ่งซัพพลาย 1.2 ล้านล้าน
ถัดมา ยอดเปิดโครงการใหม่ หรือ New Lauanch ตอนต้นปี 2567 ทาง 14 บริษัทประกาศแผนรวมกัน 4.3 แสนล้านบาท แต่เปิดจริง 3.4 แสนล้านบาท ลดลง -15% ปี 2568 ประกาศแผนลดลงเหลือ 3.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีตัวชี้วัดอีกตัวคือ ยอดสะสมโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง อยู่ระหว่างขาย และสร้างเสร็จเหลือขาย รวมกัน 8.45 แสนล้านบาท เมื่อนำมารวมกับแผนเปิดตัวใหม่อีก 3.2 แสนล้านบาท เท่ากับเฉพาะการแข่งขันของบิ๊กแบรนด์ 14 ราย กำสต๊อกในมือรวมกัน 1.1-1.2 ล้านล้านบาทในปีนี้ ทำให้ภาพที่ออกมา อสังหาฯจึงเป็นปีที่ตลาดเรดโอเชียนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว
ในขณะที่ยอดขายได้หรืออัตราดูดซับพบว่าช้าลง ภาพปกติการเปิดโครงการใหม่ ใช้เวลาขายหมดปิดโครงการ 2 ปีกว่า ปัจจุบันยืดเวลาเป็น 4 ปี นั่นหมายถึงผู้ประกอบการต้องอึดและเงินทุนหนากว่าเดิม ยอดเปิดพรีเซลช่วงแรกเคยตุนยอดขายได้ 70% ค่าเฉลี่ยลดเหลือ 30-40%
ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้างจากสินค้าสร้างเสร็จพร้อมอยู่ หรือ RTM-Ready to Move เฉพาะคอนโดฯ รวมกัน 1.2 แสนล้านบาท เทรนด์ตลาดเริ่มกลับมาเพราะไตรมาส 4/67 ยอดขายปรับตัวดีขึ้น ในปีนี้จึงคาดหวังได้ว่าจะทำให้เร่งการขายเพื่อแปลงเป็นเงินสดจากก้อนนี้
นายเทิดศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า 14 บริษัทประกาศเป้าทำยอดขายหรือพรีเซลรวมกัน 3.3 แสนล้านบาท แต่สถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำไม่เป็นใจ จึงไม่แน่ใจว่าจะทำได้สำเร็จตามเป้าหรือไม่ เพราะมีปัจจัยอนาคตที่คาดเดาไม่ได้เยอะแยะไปหมด
ครึ่งปีหลัง 2568 ผลกระทบเทรดวอร์ อารมณ์เหมือนเรากำลังเดินเข้าสู่สงครามโดยที่เราไม่มีอาวุธเลย ต้องหลบอย่างเดียวและไม่รู้จะหลบพ้นหรือเปล่า เพราะความสามารถทำกำไรก็ลดลง เคยมีกำไรเบื้องต้น 34.9% สิ้นปี67 เหลือ 31.0% ด้านกำไรสุทธิเคยได้ 17.4% เหลือ 11.9% เป็นผลจากการแข่งขันตัดราคา เฉือนกำไรในไตรมาส 4/67 เพื่อเร่งระบายสต๊อกในมือ และจะเห็นสงครามโปรโมชั่น สงครามราคาต่อเนื่องปีนี้
แบรนด์ดังแข่งฟรีโอน-แจกสุดซอย
ในด้านดีเวลอปเปอร์ก็มาตามนัด เริ่มเปิดศึกแคมเปญฟรีค่าโอนในงานมหกรรมบ้านและคอนโด โดยนายกำพล ปุญโสณี ประธานบริหาร บริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทนำคอนโดฯพร้อมอยู่ 10 โครงการ ร่วมออกบูทในงาน จัดแคมเปญ Grand Unity Summer Vibes ดีลร้อน พร้อมเสิร์ฟ ราคาเริ่ม 2.19 ล้านบาท เพียงจองภายในงาน ลุ้นรับส่วนลดเพิ่ม 100,000 บาททุกวัน, ฟรี เครื่องใช้ไฟฟ้ารวม 40 รายการ, ฟรีโอน, ฟรีเฟอร์นิเจอร์ และแพ็กเกจพักผ่อนวันหยุดสูงสุด 100,000 บาท
อาทิ คอนโดฯ เดนิม จตุจักร ใกล้บีทีเอสสถานีหมอชิต และ MRT สวนจตุจักร, บลู พหลโยธิน 35 ใกล้ถนนวิภาวดีรังสิต และแยกรัชโยธิน ชั้นสูงราคาเดียว 2.39 ล้านบาท, เซียล่า จรัญฯ 13 สเตชั่น 0 เมตร ติด MRT สถานีจรัญฯ 13 ราคาเริ่มต้น 3.39 ล้านบาท ฯลฯ
นายจรัญ เกษร ประธานเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการ บริษัท ธนาสิริกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทนำบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม 12 โครงการ ราคา 1.99-18.9 ล้านบาท จัดแคมเปญ มหกรรมบ้านธนา คุ้มค่าน่าอยู่ มอบสิทธิประโยชน์รวม 1 ล้านบาท ฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน ฟรีค่าส่วนกลาง 2 ปี ฟรีเฟอร์นิเจอร์+ชุดครัว หลังคาที่จอดรถ
นายอภิสิทธิ์ สุนทรชูเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ออริจิ้น เวอร์ติเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า บริษัทจัดโปรฯระบายสต๊อกคอนโดฯเลี้ยงสัตว์ได้ 17 โครงการ จัดโปรฯ Origin Per Parents เงื่อนไขซื้อและโอนภายใน 31 มีนาคมนี้ รับแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.9% นาน 1 ปี
นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW กล่าวว่า บริษัทฉลองครบรอบ 20 ปี นำโครงการบ้านหรูและคอนโดฯทั้งโครงการใหม่ อยู่ระหว่างเปิดพรีเซล และโครงการพร้อมอยู่ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ EEC รวม 38 โครงการ ร่วมงานมหกรรมบ้านและคอนโด จัดโปรฯเสิร์ฟดีลด่วน แจกส่วนลดมูลค่ารวม 20 ล้านบาท อาทิ ฟรีค่าส่วนกลาง 20 ปี ฟรีของแถม 20 รายการ จองเพียง 999 บาท ร่วมกับธนาคารจัดสินเชื่อต่ำผ่อนล้านละ 2,500 บาท นาน 2 ปี และลุ้นรับรางวัลออนท็อปในงานสูงสุด 2 แสนบาท
15/3/2568 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 15 มีนาคม 2568 )