30 ปีเต็มที่โรงแรม แกรนด์ ไชน่า ปักหมุดบนทำเลสี่แยกถนนราชวงศ์และถนนเยาวราช กรุงเทพฯ ซึ่งหากย้อนอดีตในยุครัชกาลที่ 5 เยาวราชถือเป็นใจกลางย่านศูนย์กลางธุรกิจ หรือ CBD ที่คึกคักที่สุดของกรุงเทพฯ และเป็นแหล่งกำเนิดเจ้าสัวแถวหน้าของเมืองไทย
ประชาชาติธุรกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ พรพิมล ปฐมศักดิ์ กรรมการและผู้บริหารโรงแรมแกรนด์ ไชน่า กรุงเทพฯ ทายาทผู้คลุกคลีและเห็นการเติบโตของโรงแรมแห่งนี้มาตลอด 30 ปีถึงแผนการพัฒนาและแนวทางการทำการตลาด รวมถึงการขับเคลื่อนแบรนด์โรงแรมแห่งนี้ในอนาคต ดังนี้
พรพิมล เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า สถานที่ตั้งของโรงแรมแห่งนี้ สมัยก่อนเป็นห้างใต้ฟ้า ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ ๆ จากยุโรป โด่งดังมาก ใหญ่และหรูหราที่สุด เทียบชั้นได้กับสยามพารากอนในยุคนี้เลยทีเดียว ฝั่งตรงข้ามเป็นห้างแมวดำขายสินค้ายุโรป
เมื่อห้างใต้ฟ้าหมดสัญญาเช่าและปิดกิจการ ปรีดา ตั้งอุทัยศักดิ์ ได้ขอซื้อที่ดินจำนวน 600 ตารางวา จากพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พร้อมทุบอาคารเก่าทิ้ง สร้างเป็นอาคารใหม่ สูง 25 ชั้นมาแทนที่ สูงที่สุดในย่านเยาวราชตรงสี่แยกราชวงศ์ เป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงในด้านอาหารจีน ทั้งหูฉลาม เป็ดปักกิ่ง ฯลฯ
อาคารแห่งนี้ใช้เวลาในการสร้างอยู่ 5-6 ปี เจาะตึกลงไปข้างล่าง 6 ชั้น ประมาณ 30 เมตร ทำเป็นที่จอดรถ ใช้วิศวกรและคนออกแบบจากต่างประเทศ ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ กลายเป็นกรณีศึกษาของบริษัทวิศวกรรม มหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ในช่วงเริ่มต้นอาคารแห่งนี้เป็น มิกซ์ยูส ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุคนั้น ประกอบด้วย โรงแรม อาคารสำนักงานให้เช่า และส่วนพลาซ่า มีร้านอาหาร หรือที่เราเรียกว่า เทรด ทาวเวอร์ โดยโมเดลจะเหมือนในฮ่องกงมาก เพราะทางครอบครัวไปฮ่องกงบ่อยและทำธุรกิจกับทางฮ่องกง จึงได้ต้นแบบการพัฒนามาจากฮ่องกง คือ ล็อบบี้โรงแรมอยู่ข้างบน ข้างล่างเป็นพื้นที่ให้เช่า
โดยในช่วง 15 ปีแรกของการเปิดให้บริการ โรงแรมแห่งนี้ให้เครือดุสิตธานีมาบริหาร ในชื่อ แกรนด์ ไชน่า ปริ๊นเซส โฮเทล หลังจากนั้นทางครอบครัวก็ได้เข้ามาบริหารเอง และพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากโรงแรม 3 ดาว พัฒนาขึ้นมาเป็น 4 ดาว และจากที่ไม่มีสระว่ายน้ำก็มีสระว่ายน้ำ (ชั้น 23) รวมถึงเพิ่มห้องอาหารใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อให้เกิดความหลากหลาย รองรับได้ทุกตลาดและทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ตลอดเวลาที่เราเข้ามาบริหารเองก็มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งเราถือว่าได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ มีผู้บริหารมืออาชีพผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาช่วยเป็นระยะ ซึ่งทุกคนก็ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงพอสมควรในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
พรพิมล บอกว่า ด้วยตัวอาคารที่มีความสูงถึง 25 ชั้น ทำให้โรงแรม แกรนด์ ไชน่า กรุงเทพ กลายเป็นไอคอนิก (iconic) ของย่านเยาวราช มาตั้งแต่ 30 ปีก่อน เพราะมีความได้เปรียบในเรื่องของโลเกชั่น วิวที่สวยงาม โดดเด่นและสูงที่สุดเพียงแห่งเดียวในรัศมี 5 กิโลเมตรในย่านเยาวราช เนื่องจากกฎหมายใหม่มีการจำกัดการสร้างอาคารสูง
โดยโรงแรมแห่งนี้ได้รีโนเวตครั้งใหญ่ในช่วงประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรม แกรนด์ ไชน่า กรุงเทพ พร้อมปรับทั้งภาพลักษณ์ให้มีความแกรนด์มากขึ้น มีร้านสตาร์บัคส์อยู่ด้านหน้า
ปรับโทนสีให้มีความเป็นเฮอริเทจ และปรับโครงสร้างภายนอกให้มีการผสมผสานระหว่างยุโรปและเอเชีย และมีสัญลักษณ์ของอาคารที่โดดเด่นบริเวณแยกราชวงศ์
ในส่วนของห้องพักซึ่งปัจจุบันมี 150 ห้องก็ทยอยปรับโฉม และเพิ่มความหลากหลายของประเภทห้องพักจากที่มี 5 ประเภทห้องพักในช่วงก่อนโควิด ปัจจุบันมีให้เลือกถึง 8-9 ประเภท ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ของนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลก เช่น นักเดินทางกลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มคู่รัก ฯลฯ
เช่น ห้องแกรนด์จากุซชี่ สูท ขนาด 35 ตารางเมตรที่พัฒนามาให้สำหรับกลุ่มคู่รักโดยเฉพาะ ห้อง 2 Bed Room ที่มีขนาดกว้างถึง 83 ตารางเมตรสำหรับรองรับกลุ่มครอบครัว ห้องแฟมิลี่ คลับ สูท ขนาด 65 ตารางเมตร รองรับผู้เข้าพักได้ถึง 5 คน เป็นต้น
นอกจากจุดขายในเรื่องความสูง สามารถเห็นวิวได้แบบ 360 องศาแล้ว จุดขายอีกหลายอย่างของโรงแรมเราคือ ห้องพักใหญ่เริ่มต้นที่ 30 ตารางเมตร ทุกห้องพักมีหน้าต่าง มีที่จอดรถ มีร้านอาหารถึง 6 เอาต์เลต เช่น ห้องอาหารจีนเซียง ปิง เหลา ชั้น 8 ห้องอาหารสกายวิว ชั้น 25 ห้องอาหารเดอะบรูม ชั้น 10 ขณะที่การบริการก็ได้รับการยอมรับจากทั้ง agoda และ trip.com
โจทย์ใหม่ เพิ่มรายได้ ทุกปี
พรพิมล บอกอีกว่า โจทย์ในการบริหารโรงแรมในวันนี้คือ การทำให้โรงแรมมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี จากจำนวนห้องที่มีอยู่เท่าเดิม นั่นหมายความว่า เราจะทำอย่างไรให้โรงแรมเรามีรายได้จากห้องที่ขายได้ (ADR) เพิ่มขึ้น หรือทำให้ขายห้องพักในแต่ละวันได้เพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องมองหาโอกาสใหม่ในการขาย ซึ่งการเพิ่มความหลากหลายของประเภทห้องพักของเราก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเพิ่มรายได้จากโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ของเราเช่นกัน
นอกจากนี้ โรงแรมยังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจาก แกรนด์ ไชน่า กรุงเทพ เป็นสแตนด์อะโลน ไม่มีเครือข่าย จากปัจจุบันที่มีบุ๊กกิ้งผ่าน OTA ต่าง ๆ ประมาณ 60% ผ่านเว็บไซต์โรงแรม หรือไดเร็กต์ บุ๊กกิ้ง ประมาณ 10-15% และอีกประมาณ 25-30% จะมาจากเอเย่นต์ทัวร์
เตรียมยกระดับสู่โรงแรม 5 ดาว
สำหรับในปี 2566 นี้ พรพิมล บอกว่า ภาพรวมรายได้ของ แกรนด์ ไชน่า กรุงเทพ มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าก่อนโควิด (ปี 2562) โดยมีอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และสามารถปรับขึ้นราคาห้องพักได้
ที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าหลักเราเป็นชาวยุโรปประมาณ 30% เอเชียประมาณ 30% คนไทยประมาณ 30% ที่เหลืออีก 10% เป็นการปรับเปลี่ยนสัดส่วนตามสถานการณ์ สัดส่วนคนจีนเราไม่มากทำให้เราสามารถกลับมาพลิกฟื้นในช่วงหลังโควิดได้เร็ว
สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวระยะไกลที่เคยมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 30% น่าจะโตถึงได้ประมาณ 45% ส่วนกลุ่มตลาดระยะใกล้อย่างตลาดเอเชียส่วนใหญ่นิยมวางแผนสั้นกว่าในอดีตทำให้ยังคาดการณ์ยาก
พรพิมล ทิ้งท้ายด้วยว่า ตนในฐานะผู้บริหารเจเนอเรชั่นใหม่จะไม่หยุดพัฒนาโรงแรมแห่งนี้ และได้ตั้งเป้าหมายว่าในอีกสักประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า โรงแรม แกรนด์ ไชน่า กรุงเทพ จะพัฒนาและยกระดับตัวเองให้เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนมากมาย
ทั้งระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมที่มีทั้ง ทางน้ำ รถไฟฟ้า ทำให้ผู้คนเข้ามาสู่ย่านเยาวราชได้สะดวกและง่ายขึ้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ตลาดชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงร้านอาหารที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ที่สำคัญ เป็นทำเลที่ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาค่อนข้างยาก ดังนั้นการผลักดันให้ แกรนด์ ไชน่า กรุงเทพ ซึ่งเป็นไอคอนิกของย่าน เยาวราช อยู่แล้วก้าวไปสู่การเป็นเดสติเนชั่นระดับโลกจึงไม่ใช่เรื่องยาก
14/12/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 14 ธันวาคม 2566 )